การค้าการลงทุน

ข้อมูลการค้า การลงทุน

      สาธารณรัฐเช็กมีระบบการค้าและเศรษฐกิจเปิดแบบตลาดเสรี ได้ผ่านการปฏิรูประบบเศรษฐกิจมาแล้วกว่า 20 ปีและมีกระบวนการการปฏิรูปที่รวดเร็ว เป็นผลให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ โดยภาคเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก มีอัตราการว่างงานค่อนข้างต่ำ และยังมีราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคที่ไม่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในยุโรปตะวันตก ประกอบกับการใช้สกุลเงินของตัวเอง ทำให้สินค้าต่างๆ ที่ผลิตในประเทศมีราคาที่ค่อนข้างถูกกว่าโดยเปรียบเทียบ รวมถึงราคาค่าแรงและปัจจัยการผลิตในด้านต่างๆ เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มยูโรโซน

      ในทางเศรษฐกิจ สาธารณรัฐเช็กถือเป็นประเทศอุตสาหกรรม มีการผลิตของอุตสาหกรรม ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม โดยอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ การผลิตยานยนต์ประเภทต่างๆ รวมถึงรถยนต์โดยสาร รถบรรทุก รถราง อะไหล่และชิ้นส่วนยานยนต์ การผลิตเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต การผลิตคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และการผลิตยุทโธปกรณ์

      นอกจากนี้ ยังเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยคู่ค้าอันดับต้นๆ ของสาธารณรัฐเช็กล้วนเป็นประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เยอรมนี ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 มายาวนาน และประเทศที่อยู่ในภูมิภาค อย่างไรก็ดี จากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในยุโรปในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สาธารณรัฐเช็กตระหนักดีว่า ควรส่งเสริมการค้ากับประเทศนอกภูมิภาคยุโรปด้วย เพื่อสร้างความสมดุลให้กับเศรษฐกิจของเช็ก ซึ่งภูมิภาคที่สนใจ ได้แก่ เอเชีย รวมถึงจีน อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ละตินอเมริกา และแอฟริกา

      นอกจากนี้ เช็กยังมีนโยบายส่งเสริม SMEs ของเช็กให้เป็นที่รู้จักและออกไปแสวงหาลู่ทางภายนอกภูมิภาคมากขึ้น และเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี/นวัตกรรมสมัยใหม่ เน้นการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่จะเป็นประโยชน์ต่อภาคการผลิตของเอกชนได้จริง รวมถึง การจับมือกับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจใหม่ๆ นอกภูมิภาค

      จนถึงต้นปี 2563 ก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในเช็ก การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับชะลอ โดยเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 2% - 2.2% ซึ่งสอดคล้องกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคยุโรป และตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในเช็กรายแรกตามมาด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2563 สลับกับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่รระบาดฯ และการประกาศใช้มาตรการกระตุ้นและเยียวยาทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้รายจ่ายและหนี้ภาครัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหดตัวที่ -5.6% ในปี 2563 อย่างไรก็ดี เมื่อเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ตั้งแต่กลางปี 2564 สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและกลับเข้าสู่ทิศทางที่ดีขึ้นและจนถึงไตรมาส 3/2564 อัตราการเติบโตอยู่ที่ 2.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยมีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 3.5% และมีสัดส่วนหนี้สาธารณะคิดเป็นร้อยละ 42.7% ของ GDP ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับ 4.9% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 

      สาธารณรัฐเช็กยังได้รวมกลุ่มกับประเทศเพื่อนบ้านอีก 3 ประเทศ ได้แก่ โปแลนด์ ฮังการี และสโลวะเกีย จัดตั้งกลุ่ม Visegrád 4 (V4) ขึ้น เพื่อเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่จะเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยเชื่อมโยงกันภายในกลุ่มทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง และภาคสังคม ดังนั้น การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับสาธารณรัฐเช็ก จึงสามารถเป็นช่องทางที่จะขยายต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 3 ประเทศได้อีกด้วย รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านและคู่ค้าทางเศรษฐกิจที่สำคัญของเช็กอย่างเยอรมนี

      มูลค่าการค้าระหว่างไทย-เช็กในปี 2564 ระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคมอยู่ที่ 800.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.79% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมูลค่าการส่งออกของไทยเท่ากับ 570.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 229.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 341.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ตามสถิติของกระทรวงพาณิชย์)

      สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยมายังเช็ก ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ และหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ในขณะที่สินค้าส่งออกที่สำคัญของเช็กไปยังไทยประกอบด้วย เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก และเครื่องเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์

กฎระเบียบการทำธุรกิจ

      - สาธารณรัฐเช็กมีระบบตลาดที่เปิดกว้าง และมีแนวโน้มที่จะลดอุปสรรคทางการค้าที่ใช่และมิใช่ภาษีลงเป็นลำดับ โดยใช้กฎระเบียบและมาตรการทางด้านการค้า รวมถึงศุลกากรและการเข้าถึงตลาดในรูปแบบเดียวกับของ EU

      - ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ของเช็ก แบ่งออกเป็น 2 อัตรา ได้แก่ อัตราร้อยละ 21 สำหรับสินค้าและบริการส่วนใหญ่ และอัตราร้อยละ 15 สำหรับสินค้าบางประเภท อาทิ อาหาร หนังสือ สัตว์เลี้ยง ต้นไม้ รวมทั้งงานบริการบางประเภท เช่น ธุรกิจโรงแรม กิจกรรมทางวัฒนธรรม และ งานบริการสาธารณะ เป็นต้น

      - สำหรับภาษีสินค้านำเข้า สาธารณรัฐเช็กดำเนินการตาม EU Custom’s Legislation โดยสินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่อยู่นอก EU จะต้องเสียศุลกากรและภาษีนำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่ม และในหลายกรณี จำเป็นจะต้องแสดงข้อมูลแหล่งผลิตสินค้า (proof of origin) เช่น สิ่งทอ ทั้งนี้ สาธารณรัฐเช็กมีมาตรการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องผ่านการตรวจสอบและขอรับใบอนุญาต จึงจะสามารถนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศได้ เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันว่า สินค้านำเข้าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพดีพอ โดยเฉพาะในประเภทสินค้าที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริโภคได้ เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ของเล่นเด็ก เครื่องทำความเย็น อุปกรณ์สำหรับยานยนต์ สินค้าสำหรับการก่อสร้าง และสินค้าเพื่อสุขภาพ เป็นต้น ทั้งนี้ อัตราศุลกากรและภาษีนำเข้าจะแตกต่างกันไปตามแหล่งผลิตสินค้านำเข้านั้นๆ เนื่องจากมีบางประเทศที่ได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ได้รับสิทธิประโยชน์เป็นพิเศษ

      - ชาวต่างชาติสามารถประกอบธุรกิจในเช็กได้หลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น สามารถร่วมกับหุ้นส่วนชาวเช็กเปิดบริษัทได้ สามารถเปิดสำนักงานสาขาในเช็กได้ และสามารถจัดตั้งบริษัทเช็กได้ แต่รูปแบบที่เป็นที่นิยมมาก คือ การร่วมกับหุ้นส่วนชาวเช็กเปิดบริษัท

      - สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกิจกับสาธารณรัฐเช็ก สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.businessinfo.cz ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่จัดทำโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าสาธารณรัฐเช็ก (Ministry of Investment and Trade) และ www.czechtradeoffices.com ซึ่งเป็นของหน่วยงาน CzechTrade ที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการค้า นอกจากนี้ CzechTrade ยังได้ตั้งสำนักงานในไทยแล้วตั้งแต่ปี 2557 โดยตั้งสำนักงานอยู่ที่อาคาร All Seasons Place และสามารถติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ +66-2625-3063, +669-7039-0975 หรือที่ อีเมล bangkok@czechtrade.cz

      - สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับอัตราภาษีศุลกากร สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.celnisprava.cz/en/ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของสำนักงานศุลกากรของสาธารณรัฐเช็ก

นโยบายการส่งเสริมการลงทุน

      สาธารณรัฐเช็กมีหน่วยงานที่ดูแลการลงทุนโดยตรง คือ CzechInvest อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สามารถดูรายละเอียดข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้ที่ www.czechinvest.org

      นโยบายหลักด้านการลงทุนของเช็ก คือการส่งเสริมการลงทุนและดำเนินมาตรการต่างๆ ที่จะทำให้สภาพแวดล้อมโดยรวมของเช็กเหมาะสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ บนพื้นฐานของกฎหมายส่งเสริมการลงทุน (Investment Incentives Act) ที่มีผลบังคับใช้ทั้งสำหรับการลงทุนภายในและการลงทุนจากต่างประเทศ

      ปัจจุบัน เช็กกำลังส่งเสริมการลงทุนในโครงการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน โดยได้ตั้งเขตอุตสาหกรรม (industrial zone) ขึ้นมาสำหรับการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ และให้สิทธิประโยชน์ในด้านต่างๆ เป็นการเฉพาะ โดยเน้นการส่งเสริมใน 3 ด้าน ได้แก่

  • (1) อุตสาหกรรม—การสร้าง/ขยายอุตสาหกรรมการผลิต
  • (2) ศูนย์เทคโนโลยี—การสร้าง/ขยายศูนย์วิจัยและพัฒนา
  • (3) ธุรกิจที่เกี่ยวกับการบริการและการสนับสนุนธุรกิจ

  ขั้นตอนการยื่นขอรับสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนโดยสังเขป

  • 1. การยื่นแบบฟอร์มต่อ CzechInvest พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง
  • 2. CzechInvest จะให้ความเห็นประกอบ ก่อนเสนอต่อให้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเช็กพิจารณา (ใช้ระยะเวลา 1 เดือน)
  • 3. กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าจะหารือร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ของเช็ก และจัดทำข้อเสนอสิทธิประโยชน์ (ใช้ระยะเวลา 2-3 เดือน)
  • 4. หลังจากทราบข้อเสนอสิทธิประโยชน์แล้ว บริษัทผู้ลงทุนยื่นเรื่องต่อ CzechInvest เพื่อตอบรับข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเช็ก (ใช้ระยะเวลา 3 เดือนหรือน้อยกว่า)
  • 5. กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเช็กตัดสินใจให้สิทธิประโยชน์ตามที่เสนอไว้ (ใช้ระยะเวลา 1 เดือน)

      ดังนั้น โดยเฉลี่ยแล้ว กระบวนการยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนจากเช็กจะอยู่ที่ประมาณ 5-6 เดือน นอกจากนี้ หากมีสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวพันกับกระทรวงหรือหน่วยงานอื่น ของเช็ก ผู้ลงทุนอาจจะต้องลงนามในสัญญากับหน่วยงานนั้นๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น หากได้รับเงินอุดหนุนสำหรับการจ้างงาน ก็จะต้องลงนามในสัญญากับกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมของเช็ก เป็นต้น

สิทธิประโยชน์

สิทธิประโยชน์หลักๆ ที่จะได้รับ ได้แก่

  • 1. การลดหย่อนภาษีเงินได้เป็นเวลา 10 ปี
  • 2. การจัดหาอสังหาริมทรัพย์ในราคาพิเศษที่ต่ำกว่าราคาตลาด
  • 3. การได้รับเงินอุดหนุนสำหรับการจ้างงาน
  • 4. การได้รับเงินอุดหนุนสำหรับการส่งบุคลากรเข้ารับการอบรม
  • 5. การได้รับเงินอุดหนุนเป็นต้นทุนสำหรับการลงทุนในภาคการผลิตและการสร้างศูนย์เทคโนโลยี (ในอัตราที่สูงถึงร้อยละ 5 ของต้นทุนค่าใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 1,500 ล้านคอรูนา สำหรับการลงทุนในภาคการผลิตและไม่เกิน 500 ล้านคอรูนา สำหรับการลงทุนสร้างศูนย์เทคโนโลยี)

      ทั้งนี้ ขึ้นกับการพิจารณาของ CzechInvest และกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเช็กด้วยว่าจะให้สิทธิประโยชน์ในด้านใดกับโครงการใดบ้าง

ประเด็นท้าทายในการทำธุรกิจ

      - การประกอบธุรกิจในเช็ก จำเป็นต้องมีผู้ช่วยด้านภาษา เนื่องจากภาษาราชการและภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่เป็นภาษาเช็ก รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

      - หากเป็นการส่งออกสินค้ามายังเช็ก ควรมีฉลากอธิบายเป็นภาษาเช็กติดบนผลิตภัณฑ์ให้เรียบร้อย โดยอาจติดเป็นสติ๊กเกอร์เพิ่มเติมบนบรรจุภัณฑ์ และต้องเป็นไปตามมาตรฐานของ EU

      - แม้ว่าเช็กจะใช้สกุลเงินเป็นของตัวเอง แต่กฎระเบียบส่วนใหญ่ก็เป็นไปตามมาตรฐานของ EU ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน อาทิ กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

      - ชาวไทยยังรู้จักและเข้าถึงศักยภาพในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เช็กมีค่อนข้างน้อย โดยเช็กมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมหลายอย่างที่เป็นเทคโนโลยีระดับโลก เช่น นวัตกรรม นาโนเทคโนโลยีด้านสิ่งทอ และด้านการแพทย์ เช่น การใช้อนุภาคโปรตอนรักษามะเร็ง และอุปกรณ์ด้านการแพทย์แบบไฮเทค เช่น เตียงที่สามารถตอบสนองต่ออาการของผู้ป่วย เป็นต้น ซึ่งหากเข้าถึงได้มากขึ้น ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจและการลงทุนในเช็ก รวมถึงการค้าขายกับเช็ก เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีสำหรับธุรกิจของไทยด้วย


Top