คำกล่าวนายกรัฐมนตรีในการประชุมผู้นำกลุ่ม ๒๐ (G20) วันที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๙ ณ นครหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน

09/09/2559

คำกล่าวนายกรัฐมนตรีในการประชุมผู้นำกลุ่ม ๒๐ (G20)

 

วาระที่ ๑: การประสานนโยบายและแนวทางการพัฒนาใหม่ ๆ เพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

(Strengthening Policy Coordination and Breaking a New Path for Growth)

วันที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๙ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ นครหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน

 

ประธานาธิบดีสี

และผู้มีเกียรติทุกท่าน

 

                        ก่อนอื่นผมขอขอบคุณสำหรับงานเลี้ยงต้อนรับที่อบอุ่นและน่าประทับใจ การแสดงที่อลังการผสมผสานอารยธรรมจีนและตะวันตกอย่างลงตัวผ่านการใช้เทคโนโลยีทันสมัย

ขอขอบคุณรัฐบาลจีนที่เชิญไทยในฐานะประธาน G77 เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ซึ่งให้ความสำคัญกับวาระการพัฒนา และสะท้อนบทบาทที่สร้างสรรค์ของจีนในการสร้างสะพานเชื่อมระหว่าง G20 และ G77 ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของไทย

                   ผมขอชื่นชมจีนและสหรัฐฯ ที่แสดงบทบาทนำในการรับรองข้อตกลงปารีส ซึ่งเป็นข่าวดีสำหรับชาวโลกในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

ขณะนี้เศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัว และเผชิญกับความท้าทายในหลากมิติ เราจึงต้องร่วมมือกันมากขึ้นโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ด้วยการผนึกกำลังสร้างความร่วมมือรูปแบบใหม่เพื่อเป็น “ยานยนต์แห่งศตวรรษที่ ๒๑” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกสู่แนวทางการพัฒนาใหม่ เพื่อสร้างหุ้นส่วนระดับโลก ทั้งเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี โดยเฉพาะการพึ่งพาซึ่งกันและกันระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นวาระที่ไทยเน้นย้ำในฐานะประธาน G77 เพื่อให้เศรษฐกิจโลกเติบโตผมมองว่าต้องลงมือทำใน 3 ส่วน ดังนี้

                        หนึ่งประสานนโยบายและความร่วมมือระหว่าง G20 และG77 เพื่อให้โอกาส ทางเลือก ไม่ปิดกั้นประเทศกำลังพัฒนาเช่นในปีนี้ และ ควรทำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้นโยบายเศรษฐกิจโลกมีความเชื่อมโยง สมดุล และส่งเสริมซึ่งกันและกันไม่เป็นการกีดกันทางการค้าและคงไว้ซึ่งพื้นที่นโยบายสำหรับรัฐบาลเพื่อใช้มาตรการที่เหมาะสมได้ด้วย สองการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากภายในด้วยการ

                                    (๑) พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเปรียบเสมือนผู้ขับขี่ให้ไปถึงเป้าหมายอย่างปลอดภัย โดยเน้นการศึกษาและพัฒนาทักษะเพื่อตอบสนองตลาดแรงงาน เช่น ไทยได้ดำเนินการแล้วกับประเทศกลุ่ม G20 อาทิ เยอรมนี และญี่ปุ่น

                             (๒) การใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นพลังขับเคลื่อนยานยนต์ไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจแนวทางใหม่ เน้นการศึกษา การวิจัยและพัฒนา และสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนผลิตนวัตกรรมเพื่อลดช่องว่างทางดิจิตอลG20 ควรร่วมกับ G77 แสวงหาศักยภาพของแต่ละประเทศ เพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าร่วมกันพัฒนาสินค้าจากทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างแบรนด์ของภูมิภาค เช่น อาเซียนแบรนด์ เป็นทางเลือกใหม่ เพิ่มรายได้ภาคเกษตร ซึ่งเป็นฐานเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาและสร้างตลาดแรงงานใหม่ ๆ ซึ่งไทยก็กำลังส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่นโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) เพื่อพัฒนาการแปรรูปสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น อาทิ อาหารเพื่อผู้สูงวัย เพื่อสุขภาพ เป็นต้น

                                    (๓) ส่งเสริม SMEsซึ่งเป็นตัวถังหลักของยานยนต์ลำนี้ให้สามารถขับเคลื่อนได้อย่างสมบูรณ์ ในฐานะแหล่งสร้างงานและนวัตกรรมที่สำคัญจึงควรเสริมสร้างขีดความสามารถของ SMEs 3ล้านราย ให้เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าโลกให้ความรู้และปรับปรุงการใช้ประโยชน์จาก IT การเข้าถึงตลาด เงินทุนสินเชื่อ สิทธิพิเศษทางภาษี และการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา

สามสนับสนุนทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วม ผ่านกลไกประชารัฐ ประกอบด้วยรัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อสร้างความเข้มแข็งจากภายในลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งไทยพยายามเร่งแก้ไขปัญหาภายในควบคู่ไปกับการพัฒนา โดยภายหลังจากมีการลงประชามติจะมีการเลือกตั้งในปี ๒๕๖๐ตามRoadmap ที่กำหนดไว้

                   สุดท้ายนี้ ผมสนับสนุนวาระการปฏิรูปของ G20ที่เน้นการเติบโตที่เข้มแข็งยั่งยืน และสมดุล และในฐานะตัวแทนของ G77 ขอให้ G20 ร่วมมือร่วมใจ โดยอาศัยประสบการณ์ และทรัพยากรที่มีอยู่ เป็นผู้นำขับเคลื่อนยานยนต์ใหม่ที่จะนำพาโลกไปสู่แนวทางการพัฒนาใหม่อย่างยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังดังคำกล่าวที่ว่า แข็งแกร่งไปด้วยกัน(Stronger Together)

ขอบคุณครับ

* * * * * * * * *

 

 


 

คำกล่าวนายกรัฐมนตรีในการประชุมผู้นำกลุ่ม ๒๐ (G20)

 

วาระที่ ๔ : การหารือระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน

หัวข้อ การพัฒนาที่มีความเชื่อมโยงและครอบคลุม (Inclusive and interconnected Development)

วันที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๙ เวลา ๑๓.๕๕ น. ณ นครหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน

 

ประธานาธิบดีสี

และผู้มีเกียรติทุกท่าน

 

                        เกือบหนึ่งปีแล้วที่ประชาคมโลกได้ร่วมกันรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ๒๐๓๐     เพื่อการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับ “คน” ทุกกลุ่ม เพิ่มการเข้าถึงโอกาสและความเจริญอย่างเท่าเทียม โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง

                        ผมมองว่าองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาที่มีความเชื่อมโยงและครอบคลุมมี  ๓ ส่วน ได้แก่

                        หนึ่ง การเป็นหุ้นส่วนระดับโลกเป็นประตูสู่โอกาสให้ G20 ช่วย G77 ในลักษณะเครื่องนำทาง(Navigator) ทำให้การพัฒนา G77 และ การบรรลุวาระ ๒๐๓๐ ของโลกเป็นไปได้รวดเร็วขึ้น ที่ผ่านมา กลุ่ม G77 ได้สร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อช่วยกันพัฒนาความเข้มแข็งจากภายในกลุ่ม แต่ด้วยศักยภาพที่จำกัด จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจาก G20 ทั้งความช่วยเหลือ (Aid) ซึ่งเน้นผลในระยะสั้น และการเสริมสร้างขีดความสามารถ(Capacity Building) ซึ่งเป็นการปูทางเพื่อผลในระยะยาว โดยคำนึงถึงความต้องการของกลุ่ม G77 เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่มีความเชื่อมโยงและครอบคลุมอย่างแท้จริงด้วย

                        ผมชื่นชมการที่จีนและกลุ่ม ๒๐ให้ความสำคัญกับวาระการพัฒนา และร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนาโดยเชิญไทยในฐานะประธาน G77 เข้าร่วมการหารือ และจัดทำแผนปฏิบัติการกลุ่ม ๒๐ ว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (G20 Action Plan on Sustainable Development Goals) ซึ่งนอกจากระบุความร่วมมือที่จะให้ต่อประเทศกำลังพัฒนาแล้ว ยังอาจเป็นตัวอย่างของแนวปฏิบัติที่ดี รวมทั้ง ข้อริเริ่มเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในแอฟริกาและประเทศกำลังพัฒนาน้อยที่สุด (G20 Initiative on Supporting Industrialisation in Africa and LDCs) ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่ ๙ ของวาระ ๒๐๓๐ ว่าด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน และการดำเนินการของ G77 มาโดยตลอด

                   แต่เราต้องไม่ลืมภาคการเกษตร ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศกำลังพัฒนา และเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการของโลก ซึ่งกำลังประสบปัญหาราคาตกต่ำอย่างมากกลุ่ม ๗๗ สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม และสนับสนุนให้ G20 ส่งเสริมการใช้หลักการธุรกิจที่ครอบคลุม (Inclusive Business)ในภาคการเกษตร เพื่อช่วยเกษตรกรรายย่อยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ ห่วงโซ่คุณค่าโลก และได้ประโยชน์ในฐานะผู้บริโภคไปพร้อมกัน

                        ในส่วนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีผลต่อความอยู่รอดของประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศที่เป็นหมู่เกาะ (SIDS) ผมอยากให้G20 เห็นโอกาสในการสนับสนุนSIDS ด้วยองค์ความรู้ในการพัฒนา เศรษฐกิจแบบฟื้นฟูและยั่งยืนให้มีขีดความสามารถในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมตามความต้องการของเขา

                        สองการสร้างความเชื่อมโยง ซึ่งเปรียบเสมือนถนน ที่ช่วยกระจายความรู้  โอกาสและการพัฒนา ไปยังภาคส่วนต่าง ๆ อย่างทั่วถึง และลดความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ลง ผมชื่นชมความพยายามของ G20 ในการลดช่องว่างของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ผ่านการรับรองข้อริเริ่ม “พันธมิตรว่าด้วยความเชื่อมโยงทางโครงสร้างพื้นฐานระดับโลก” ในปีนี้ และการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank – AIIB) และข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีน ซึ่งสามารถทำงานส่งเสริมกับกลไกระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาอื่นๆ ให้ประสานสอดคล้องกัน และขอย้ำว่า เราต้องไม่มองข้ามความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ  และสถาบัน และที่สำคัญคือการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนโดยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์การไปมาหาสู่และการท่องเที่ยว เชื่อมโยงเครือข่ายถนน ทางรถไฟ ทางเรือ และเที่ยวบินให้มากขึ้น

                        สามแต่ละประเทศมีศักยภาพและข้อจำกัดของสังคมหรือระบบเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน  ผมเห็นว่า ไม่มีสูตรตายตัวในการสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนเราต้องให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาที่เหมาะกับบริบทของแต่ละประเทศ(Home-Grown Approaches) ซึ่งเป็นการสร้างเอกภาพบนความแตกต่าง ด้วยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกัน

                        สำหรับไทย ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เน้นการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมบนแนวคิดความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน พร้อมกับปลูกฝังคุณธรรม และพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อให้สังคมพัฒนาได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน สิ่งนี้ช่วยให้ไทยก้าวผ่านปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมมาโดยตลอดกว่า ๑๐ ปีที่ผ่านมา ไทยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์โดยนำหลัก SEP ไปประยุกต์ใช้ในประเทศกำลังพัฒนาในบริบทต่างๆ กันแล้ว กว่า ๙๘ ประเทศ และตั้งแต่รับตำแหน่งประธาน G77 เมื่อต้นปี ไทยได้ดำเนินโครงการ SEP for SDGs Partnershipอย่างต่อเนื่อง ทั้งผ่านความร่วมมือ ทวิภาคี ไตรภาคีกับ G20  อาทิ เยอรมัน และร่วมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา (Development Partner) กับสมาชิก G20 ในกรอบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต่าง ๆ อาทิ จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ไทยพร้อมร่วมมือกับสมาชิก G20 ที่สนใจเพื่อขยายความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ต่อไป

ขอบคุณครับ

 

* * * * * * * * *

 


Top